Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ภาวะกลืนลำบาก อย่าชะล่าใจ เสี่ยงโรคแทรกซ้อน

25 มี.ค. 2567



   สิ่งที่จำเป็นสำหรับการมีชีวิตคือการหายใจและการกลืน  มนุษย์จำเป็นต้องรับประทานอาหารเพื่อการเจริญเติบโต สร้างพลังงานและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ  การรับประทานอาหารต้องมีการเคี้ยวและกลืนอาหารซึ่งเป็นการทำงานขั้นพื้นฐานตั้งแต่แรกเกิด  การเคี้ยวและกลืนแต่ละครั้ง  ส่วนต่างๆ ของร่างกายหลายๆ ส่วนต้องทำงานร่วมกันและพร้อมเพรียงเป็นจังหวะชนิดที่แทบจะไม่เกิดความผิดพลาดเลย  ประสาทสมอง 6 คู่ และประสาทสันหลัง C1-3 ถูกใช้ในการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ 50 มัดขณะกลืน  เมื่อร่างกายทำงานผิดพลาดขณะเคี้ยวและกลืน จะทำให้เคี้ยวอาหารไม่ได้ เคี้ยวไม่ละเอียด กลืนไม่ได้ กลืนไม่ลง กลืนติด กลืนเจ็บ สำลัก เกิดอาการแทรกซ้อน เช่น ปอดติดเชื้อ ติดเชื้อในกระแสโลหิต หายใจลำบาก อุดกั้นทางเดินหายใจจนเสียชีวิต

การเคี้ยวและกลืน

   เป็นการเตรียมและส่งผ่านอาหารจากช่องปากผ่านช่องคอสู่หลอดอาหารเพื่อไปกระเพาะอาหาร อวัยวะที่ใช้ในการเคี้ยวและกลืนประกอบด้วยกระดูกขากรรไกรบนและล่าง และกล้ามเนื้อต่างๆ อันได้แก่

  • กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าและลำคอ
  • กล้ามเนื้อลิ้น
  • กล้ามเนื้อเพดานอ่อน
  • กล้ามเนื้อช่องคอ
  • กล้ามเนื้อบริเวณใต้ขากรรไกร หรือกล้ามเนื้อเหนือกระดูกไฮออยด์ (suprahyoid muscles) 
  • กล้ามเนื้อใต้ต่อกระดูกไฮออยด์ (infrahyoid muscles)
  • กระดูกกล่องเสียงและหลอดลม (larynx and trachea)

  จะเห็นว่าการกลืนผ่านช่องคอเป็นจุดที่อันตรายมากสุดเพราะเป็นช่องทางร่วมของกล่องเสียงซึ่งเป็นทางเดินหายใจส่วนต้นกับหลอดอาหาร  ร้อยละ 90 ของโรคกลืนลำบากเกิดจากรอยโรคที่ช่องคอ  อีกร้อยละ 10 เกิดจากหลอดอาหาร

กลุ่มเสี่ยงของโรคกลืนลำบาก

   พบตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึง 5 ปี เนื่องจากการพัฒนาของสมองและกล้ามเนื้อไม่สมบูรณ์  หลังจากนั้นจะพบมากอีกทีในผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากวัยชรา ระบบประสาทและกล้ามเนื้อทำงานช้าลง ป่วยด้วยโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมองตีบและแตก การรับประทานยาต่างๆ การผ่าตัด และที่สำคัญคือเนื้องอก  โดยปกติเราอาจสำลักหรือกลืนติดเป็นบางครั้ง  แต่ถ้าสำลักมากกว่า 10 ครั้งใน 1 วัน หรือสำลัก 3 ครั้งต่อวันติดต่อกัน 7 วัน หรือกลืนติดมากกว่า 2 สัปดาห์ควรรีบไปพบแพทย์ด้านการกลืน

การตรวจและรักษา

   เมื่อผู้ป่วยไปพบแพทย์ด้านการกลืน แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดทางหูคอจมูกและการกลืน  ตรวจระบบประสาทและกล้ามเนื้อการกลืน  เมื่อสงสัยว่ามีรอยโรคอาจต้องตรวจวินิจฉัยเฉพาะการกลืน ได้แก่ เอกซเรย์ Videofluoroscopy ส่องกล้องตรวจการกลืน (Functional endoscopic evaluation of swallowing) ตรวจแรงดันกล้ามเนื้อช่องคอและหลอดอาหาร (Pharyngoesophageal manometry) ตรวจไฟฟ้ากล้ามเนื้อการกลืน (Electromyography of swallowing)
  “การรักษาโรคกลืนลำบากเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทาน  ผู้สูงอายุไม่ควรรับประทานอาหารหนืด อาหารที่กลืนยากเคี้ยวยาก เช่น ขนมเปี๊ยะ เผือกต้มมันต้ม  ผู้ใส่ฟันปลอมไม่กินปลาเพราะเคี้ยวไม่พบก้าง ก้างติดคอ  อาจต้องเปลี่ยนกลิ่นรสและความข้นใสของอาหารเพื่อช่วยการกลืน  ถ้าไม่ดีขึ้นอาจใช้ยา  ผ่าตัดแก้ไข  ฟื้นฟูสภาพหรือใช้เครื่องช่วย เป็นต้น”

   ภาวะกลืนลำบาก นอกจากจะส่งผลกระทบทางด้านร่างกายแล้ว ยังส่งผลกระทบทางด้านจิตใจเช่นกัน เพราะผู้ป่วยที่มีอาการกลืนลำบาก มักจะกังวลในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ทำให้ห่างจากการอยู่ร่วมกับผู้คนในสังคม ผู้ป่วยจึงเกิดความหดหู่ ซึมเศร้า ส่งผลให้ร่างกายมีอาการทรุดหนักลงไปอีก


สนับสนุนข้อมูลโดย : ศ.นพ. วิฑูร ลีเกริกก้อง แพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิกวิทยา (โรคการกลืนลำบาก, การผ่าตัดโรคมะเร็งศีรษะและลำคอ, โรคภูมิแพ้)
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์หู คอ จมูก ชั้น 2  โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1745 ต่อ 90225

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.